ประเทศกัมพูชา


 
 

ข้อมูลทั่วไปประเทศกัมพูชา

คนทั่วไปรู้จักและให้ความสำคัญเชิงประวัติศาสตร์กับประเทศกัมพูชาอยู่ 2 ประการคือ
  • เป็นแหล่งอารยะธรรมและราชธานีของอาณาจักรขอมโบราณที่ยิ่งใหญ่ ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 - 16 แล้วล่มสลายไป คงเหลือหลักฐานปรากฎในรูปปราสาทหินโบราณจำนวนกว่า 1,700 ปราสาทกระจัดกระจายอยู่ทั่วไป โดยมีปราสาทนครวัด ( Angkor Wat ) และกลุ่มปราสาทในนครธม ( Angkor Thom ) ซึ่งเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้มาชม
     
  • เป็นแหล่งที่เกิดการขัดแย้งทางการเมืองภายใน และการแทรกแซงจากภายนอก นำไปสู่การแตกแยกเป็นฝักเป็นฝ่ายฆ่าฟันกันเองของชาวกัมพูชาในช่วงทศวรรษที่ 1970 -1990 โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการล้มตายไปของประชาชนนับล้านคนในช่วงระยะเวลาเพียง 3 ปี 8 เดือน 20 วัน ที่ระบอบเขมรแดง ( Khmer Rouge Regime ; 17 April 1975 - 7 January 1979 ) ได้ปกครองดินแดนนี้ และองค์การสหประชาชาติเห็นความสำคัญและพยายามที่จะจัดตั้งศาลพิเศษขึ้นพิจารณาคดีเขมรแดง เพื่อให้ได้มาซึ่งเหตุจูงใจและข้อเท็จจริงที่นำไปสู่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ รวมทั้งการพิจารณาโทษต่อผู้มีส่วนร่วมให้เกิดเหตุดังกล่าว
ขณะที่ด้านเศรษฐกิจ การค้า และสังคมของกัมพูชาสำหรับบุคคลภายนอกนั้น เป็นที่รู้จักหรือรับรู้น้อยมาก ทั้งนี้ เนื่องจากภายหลังได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ.1953 เพียง 10 ปีเศษ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง การปกครองชนิดที่เรียกว่าเป็นการพลิกฟ้าพลิกแผ่นดินหลายครั้ง กล่าวคือ ในปี 1970 เกิดการรัฐประหารเปลี่ยนการปกครองจากราชอาณาจักรไปสู่ระบอบสาธารณรัฐ ปี 1975 เปลี่ยนเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ลัทธิเหมา ปี 1979 เปลี่ยนเป็นสังคมนิยมแบบเวียดนาม ปี 1989 เริ่มเปลี่ยนกลับสู่ระบบตลาด และจนท้ายสุดรัฐธรรมนูญปี 1993 ได้กำหนดให้ประเทศนี้เป็นราชอาณาจักร มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย ใช้ระบบเศรษฐกิจอาศัยกลไกการตลาดเสรีต่อเนื่องมาทุกวันนี้ กล่าวได้ว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระยะเวลา 30 ปีเศษที่ผ่านมา ทำให้คนส่วนมากโดยเฉพาะผู้ที่ไม่เคยเข้ามาทำงาน หรือเข้ามาประกอบธุรกิจมีความมั่นใจเพียงพอที่จะกล่าวหรือแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับความเป็นไปทางด้านเศรษฐกิจ การค้าและสังคมในปัจจุบัน

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ ในฐานะหน่วยงานในสังกัดกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ของไทย ซึ่งมีหน้าที่สร้างความสัมพันธ์ทางการค้าทางเศรษฐกิจที่ดีกับกัมพูชา รวมทั้งต้องปฏิบัติการสนับสนุนการประกอบธุรกิจของภาคเอกชนไทยในทุกด้าน จึงเห็นความสำคัญที่จะจัดทำเอกสารรวบรวมและสรุปข้อมูลทางด้านการปกครอง สังคม การเมือง เศรษฐกิจการค้าและการลงทุนในกัมพูชา โดยเฉพาะที่เกี่ยวพันกับประเทศไทยขึ้น เพื่อเป็นเอกสารเผยแพร่แก่ผู้ที่มีความสนใจที่จะเข้ามาทำการค้า หรือมาลงทุนในประเทศนี้ ได้ศึกษาเป็นพื้นฐาน สร้างความรู้ความเข้าใจเป็นการเตรียมการในเบื้องต้น ดังนี้

การเมือง การปกครอง 
ราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นประเทศเพื่อนบ้านซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกและมีพรมแดนทางบกติดต่อกับประเทศไทยเป็นระยะทางจากสันปันน้ำทิวเขาพนมดงรักถึงหลักเขตแดนที่ 1 (จังหวัดอุบลราชธานี) ต่อเนื่องลงมาทางใต้ จรดสันปันน้ำทิวเขาบรรทัด ถึงหลักเขตแดนที่ 73 (จังหวัดตราด) เป็นระยะทางประมาณ 798 กิโลเมตร มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์คือ พระบาทสมเด็จพระบรมนาถ นโรดม สีหมุนี ทรงเป็นประมุข ภายหลังจากได้รับเสียงสนับสนุนอย่างเป็นเอกฉันท์จากคณะที่ปรึกษาราชบัลลังก์

(The Royal Council of the Throne) ตามมติเมื่อแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2547 ให้สืบราชบัลลังก์ต่อจากพระราชบิดา (สมเด็จพระนโรดม สีหนุ ซึ่งสละราชสมบัติ) โดยมีพระราชพิธีราชาภิเษกเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2547 ทรงเป็นประมุขของประเทศที่มีขนาด 1 ใน 3 ของประเทศไทย ซึ่งมีประชากรประมาณ 13.8 ล้านคนเศษ ( ปี 2548 ) เป็นชาย 6.7 ล้านคนเศษ หญิง 7.1 ล้านคนเศษ แบ่งเขตการปกครองเป็น 20 จังหวัด ( เรียกว่า แขต ) กับอีก 4 กรุง โดยแต่ละจังหวัดหรือกรุง จะมีผู้ว่าราชการจังหวัดหรือกรุงกับรองผู้ว่าฯ อีก 7 – 9 คน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามวาระของรัฐบาล ( 5 ปี ) เป็นผู้ปกครอง ทั้งนี้ จังหวัดจะแบ่งเขตการปกครองย่อยเป็นอำเภอ และตำบล ( เรียกเป็น “ สะร๊อก ” และ “ คุ้ม “ ) ขณะที่กรุงจะแบ่งเขตการปกครองย่อยเรียกเป็น “ คาน ” และ “ สังกัด “ ทั้งนี้ หมู่บ้านหนึ่งๆ ซึ่งเป็นชุมชนย่อยลงไปจะเรียกว่า “ภูมิ”

รัฐสภาของกัมพูชาเป็นสภาคู่ ประกอบด้วย สภาผู้แทนราษฎร ( National Assembly ) ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า 120 คน มาจากการเลือกตั้งทั่วไปโดยทางตรงและลับ มีวาระ 5 ปี ปัจจุบันมีสมาชิก 123 คน และมีสมเด็จกรมพระ นโรดม รณฤทธิ์ เป็นประธาน กับ วุฒิสภา ( Senate ) ที่มีสมาชิกมากสุดไม่เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร มาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์ 2 คน เลือกจากพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากโดยเปรียบเทียบ 2 คนและที่เหลือมาจากการเลือกตั้งโดยทางอ้อม มีวาระ 6 ปี ( ปัจจุบันมีสมาชิก 61 คน ) และมีสมเด็จ เจีย ซิม เป็นประธาน ( ตำแหน่ง สมเด็จ เป็นตำแหน่งที่กษัตริย์สีหนุโปรดเกล้าพระราชทานแก่สามัญชนผู้ทำคุณประโยชน์อย่างยิ่งต่อประเทศ ปัจจุบันมีผู้ได้รับตำแหน่งและยังมีชีวิตอยู่อีก 2 คน คือ สมเด็จ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรี กับสมเด็จ เฮง สัมรินทร์ รองประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานกิตติมศักดิ์พรรคประชาชนกัมพูชา)

รัฐบาลปัจจุบันจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2547 หลังจากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2546 เกือบ 1 ปี โดยเป็นรัฐบาลผสม 2 พรรคการเมือง ระหว่างพรรคประชาชนกัมพูชา ที่มี 73 ที่นั่ง ( CPP ; Cambodian People Party ) กับพรรคฟุนซินเป็ค ซึ่งมี 26 ที่นั่ง

(FUNCINPEC ; National United Front for an Independent, Neutral, Peaceful and Cooperative Cambodia) มีสมเด็จฮุน เซนเป็นนายกรัฐมนตรี จัดการบริหารเป็น 26 กระทรวง 2 ทบวง โดยมีพรรคสม รังสี ซึ่งมี 24 ที่นั่ง ( SRP ; Sam Rainsy Party ) เป็นพรรคฝ่ายค้าน

การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของกัมพูชา ใช้ระบบแบ่งเขตแล้วเลือกตามบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง ในสัดส่วนประชากร 100,000 คนต่อสมาชิกสภา 1 ที่นั่ง ทั้งนี้ ชาวกัมพูชาอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี จึงมีสิทธิลงคะแนน โดยผู้ที่ได้สัญชาติกัมพูชาโดยการเกิดอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และ 40 ปี เท่านั้น จึงมีสิทธิรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทน และสมาชิกวุฒิสภาตามลำดับ

อนึ่ง หลังได้รับเลือกตั้ง หากสมาชิกพรรคการเมืองใดพ้นสภาพก่อนครบวาระของสภา พรรคการเมืองนั้นๆ สามารถส่งคนของตนเข้ามารับตำแหน่งและทำหน้าที่แทน ทำให้เมื่อพรรคการเมืองใดสามารถจัดตั้งเป็นรัฐบาลก็จะเป็นรัฐบาลที่สามารถบริหารประเทศได้ค่อนข้างจะมีความมั่นคงตลอดวาระ 5 ปี ทำให้การเลือกตั้งแต่ละครั้งจะแข่งขันกันรุนแรง

ศาสนา สังคม และประชากร 
ศาสนาพุทธลัทธิเถรวาทเป็นศาสนาประจำชาติ ปัจจุบันเป็นที่นับถือประชาชนประมาณร้อยละ 90 ของประเทศ ประกอบด้วย 2 นิกาย คือ ฝ่ายมหานิกาย มีสมเด็จพระมหาสุเมธาธิบดี ( เทพ วงศ์ ) สมเด็จพระสังฆราช วัดอุณาโลม เป็นประมุข กับฝ่ายนิกายธรรมยุติ มีสมเด็จพระสุคนธาธิบดี( บัว คลี่ ) สมเด็จพระสังฆราช วัดบัวตูม เป็นประมุข ประชาชนส่วนที่เหลือประมาณร้อยละ 10 จะนับถือศาสนาอิสลาม คริสต์ และอื่นๆ

จากการที่พุทธศาสนาเป็นศาสนาหลัก ทำให้ประเพณีปฏิบัติต่างๆ ของประชาชนชาวกัมพูชาจะสอดคล้องใกล้เคียงกับประเทศไทยเป็นอย่างมาก โดยผู้สูงอายุจะเข้าวัดฟังธรรม เมื่อมีงานบุญตามประเพณี ประชาชนหนุ่มสาวและเด็กจะร่วมแรงช่วยเหลือจัดการงานอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ จะมีงานบุญประเพณีที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาตามจันทรคติเช่นเดียวประเทศไทยเป็นวันหยุดราชการ ได้แก่ วันมาฆบูชา, วันปีใหม่เขมร ( Khmer New Year ) ซึ่งตรงกับวันสงกรานต์จะหยุดราชการในวันที่ 14 – 16 เมษายนทุกปี, วันวิสาบูชา วันสาร์ทเขมรซึ่งตรงกับ วันแรม 15 ค่ำ เดือน 10 (เรียกว่างานวันปรอจุมเบณ , Pchum Ben day) โดยจะหยุดราชการ 3 วัน ตั้งแต่วันแรม 14 ค่ำ เดือน 10 จนขึ้น 1 ค่ำ เดือน 11 และงานวันลอยกระทง ( Water Festival ) เรียกว่างานบุญอมตุก หรืองานแข่งเรือ เพราะจะมีเรือจากจังหวัดต่างๆมาแข่งฝีพายกันหน้าพระบรมมหาราชวัง จะหยุดราชการ 3 วัน ตั้งแต่วันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 12 ถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 1 นอกจากนี้จะเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ในโอกาสต่างๆ ประกอบด้วย

วันที่ 7 มกราคม ซึ่งเป็นวันปลดปล่อยกัมพูชาจากเขมรแดง
วันที่ 8 มีนาคม ซึ่งเป็นวันสตรีสากล
วันที่ 1 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันแรงงาน
วันแรกนาขวัญ วันแรม 4 ค่ำ เดือน 6
วันที่ 1 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันเด็กสากล
วันที่ 24 กันยายน ซึ่งเป็นวันรัฐธรรมนูญ
วันที่ 29 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันขึ้นครองราชย์
วันที่ 9 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันรับอิสระภาพจากฝรั่งเศส
วันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันสิทธิมนุษยชนสากล

หากจะกล่าวโดยภาพรวมแล้ว ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมและประเพณีของกัมพูชาและไทยจะใกล้เคียงกันในทุกเรื่อง รวมทั้งภาษา ถ้อยคำ พยัญชนะ สระ ตัวอักษร คำศัพท์ต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาได้ถูกหยิบยืมแลกเปลี่ยนใช้สืบเนื่องกันมาและตกค้างในแต่ละฝ่ายจำนวนหนึ่ง

เนื่องจากตลอดระยะ 30 ปีก่อนที่เขมรทั้ง 4 ฝ่ายจะลงนามในสัญญายุติข้อขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกัน ( the Agreement on a Comprehensive Political Settlement of the Cambodian Conflict ) เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2534 ชาวกัมพูชาต้องรบราฆ่าฟันกันเอง ทั้งที่เกิดจากการขัดแย้งกันภายในและมูลเหตุชักจูงจากภายนอก ได้ทำให้ผู้มีการศึกษา ปัญญาชนและประชาชนจำนวนมากต้องล้มตาย ที่ยังมีชีวิตรอดอยู่ในเวลานั้น ต่างคำนึงแต่จะหนีตาย เป็นผู้ลี้ภัยสงครามกระจายไปในประเทศต่างๆ กล่าวได้ว่าเกิดสภาพบ้านแตกสาแหรกขาดทั่วหัวระแหง ผู้ที่มีชีวิตในช่วงนั้น เคยเปรียบให้ฟังว่า มีถนนก็ไม่มีคนเดิน มีบันไดก็ไม่มีคนขึ้น การศึกษาและสังคมขาดการพัฒนาไปช่วงหนึ่ง เพื่อเห็นภาพขอยกคำกล่าวของท่านนายกรัฐมนตรีสมเด็จ ฮุน เซน ในโอกาสเปิดการประชุมชี้แจงนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลต่อประชาคมนานาชาติ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2548 ณ โรงละครจตุมุข กรุงพนมเปญ ตอนหนึ่งระบุว่า “ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา(นับจากปี 1991) กัมพูชาได้มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ไม่เพียงแต่การเมืองและความมั่นคง ยังรวมถึงด้านสังคมและเศรษฐกิจ หลายท่านอาจจะไม่ทราบว่า เมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้ว หลังการล่มสลายของระบอบการปกครองเขมรแดง(ปี 1979) ช่วงนั้นในกรุงพนมเปญมีผู้อยู่อาศัยและทำงานอยู่เพียง 70 คน แต่เวลานี้มีชาวกัมพูชามากกว่า 1 ล้านคนทำงานและยังชีพอยู่ในเมืองหลวง(ในอดีต) ที่เคยได้รับการยกย่องว่าเป็น เพชรแห่งเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงทศวรรษที่ 1960 ก่อนที่จะเกิดสงคราม “

การสัมโนประชากรครั้งล่าสุดเมื่อปี 1998 กัมพูชามีประชากร 11,426,223 คน หากประเมินการขยายตัวของประชากรที่อัตราร้อยละ 2.4 ต่อปีแล้ว ประมาณได้ว่าประชากรของกัมพูชาในปี 2548 จะมี 13.8 ล้านคน เป็นหญิงประมาณร้อยละ 51 ชายร้อยละ 49 โดยประชากรเกือบครึ่งหนึ่งจะมีอายุไม่ถึง 20 ปี เปรียบเสมือนกำลังแรงงานในอนาคตที่จะรองรับการลงทุนในทุกด้าน ทำให้นักลงทุนจากประเทศต่างๆ มองเห็นโอกาสที่จะใช้ประโยชน์จากค่าแรงงานที่ต่ำกว่าประเทศอื่นโดยเปรียบเทียบ ศึกษาและหาลู่ทางย้ายฐานการผลิตมายังประเทศนี้ หากการเมืองมีความมั่นคง และสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากการลงทุนมากเพียงพอที่จะจูงใจ ทั้งนี้ จังหวัดที่มีประชากรมากกว่า 1 ล้านคน ได้แก่ กัมปงจาม กรุงพนมเปญ กันดาล พระตะบองและไพรเวง จังหวัดที่มีประชากร 500,000 – 1,000,000 คน ได้แก่ จังหวัดตาแก้ว เสียมราฐ กัมปอต กัมปงธม กัมปงสปือ กัมปงชนัง สวายเลียงและบันเตียเมียนจัย

เส้นทางคมนาคม 
กัมพูชามีเส้นทางคมนาคมติดต่อกับภายนอกและในประเทศครบทุกด้าน

ทางอากาศ มีสนามบินพาณิชย์ทางวิ่งเดียว ( Single Runway ) ที่ได้มาตรฐานสากลและเปิดใช้สำหรับเครื่องบินพาณิชย์ที่บินประจำและเครื่องเหมาลำระหว่างประเทศ 2 แห่ง คือ (1) สนามบินนานาชาติพนมเปญ หรือสนามบินโปเชนตง สามารถรองรับเครื่องบินได้ถึงขนาดโบอิ้ง 747 ( 500 ที่นั่ง ) กับ (2) สนามบินนานาชาติเสียมเรียบ ในจังหวัดเสียมราฐ ซึ่งยูเนสโก

( UNESCO ; United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization )ผู้ให้ทุนในการอนุรักษ์นครวัด – นครธม กำหนดให้รองรับเครื่องบินได้ไม่เกินขนาดโบอิ้ง 757

(200 ที่นั่ง) รวมทั้งยังมีสนามบินที่ยังไม่เปิดบริการอีกหลายแห่ง

ปัจจุบันมีเที่ยวบินไป-กลับ กรุงเทพ – พนมเปญ – กรุงเทพ วันละ 6 เที่ยวบินเป็นของบริษัท การบินไทย (TG) 2 เที่ยวบิน การบินกรุงเทพฯ (PG) 3 เที่ยวบิน และแอร์เอเซีย (FD) 1 เที่ยวบิน และมีเที่ยวบินไป-กลับ กรุงเทพ – เสียมราฐ – กรุงเทพ ของการบินกรุงเทพฯ วันละ 4 – 6 เที่ยวบิน

ทางน้ำ มีท่าเรือนานาชาติ 3 แห่งเป็นรัฐวิสาหกิจ 2 แห่งคือ ( 1 ) ท่าเรือนานาชาติสีหนุวิลล์ ซึ่งตั้งอยู่ติดอ่าวไทยในกรุงพระสีหนุ (เดิมชื่อจังหวัดกัมปงโสม) ทางตอนใต้ของประเทศ ห่างจากกรุงพนมเปญโดยทางรถยนต์ 226 กิโลเมตร( ทางหลวงหมายเลข 4 ) มีหน้าท่ากว้าง 550 เมตรสามารถรองรับเรือที่ระวาง 10,000 – 15,000 ตัน กินน้ำลึกไม่เกิน 8.5 เมตรได้ในเวลาเดียวกัน 2 – 3 ลำ กับ ( 2 ) ท่าเรือนานาชาติพนมเปญ ซึ่งอยู่ลึกเข้ามาประมาณ 330 กิโลเมตรจากปากแม่น้ำโขงที่ชายฝั่งทะเลจีนใต้ของประเทศเวียดนาม และจากการที่เป็นท่าเรือที่อยู่ในลำน้ำ ทำให้ความสามารถในการรองรับเรือในฤดูแล้งกับฤดูน้ำหลากจะต่างกันมากทั้งจากอุปสรรคของการเดินเรือและระดับความลึกหน้าท่าคือ สามารถรองรับเรือระวาง 2,000 ตันกับ 5,000 ตันในแต่ละฤดูตามลำดับ สำหรับท่าเรือแห่งที่ 3 เป็นท่าเรือเอกชนชื่อ ท่าเรือออกญามอง หรือ Oknha Mong Port ซึ่งตั้งอยู่ติดอ่าวไทยในเขตจังหวัดเกาะกง เหนือขึ้นมาจากท่าเรือสีหนุวิลล์ทางรถยนต์ประมาณ 40 กิโลเมตร หรือประมาณ 180 กิโลเมตรจากกรุงพนมเปญ เป็นท่าเรือที่เปิดดำเนินการควบคู่กับการขยายขนาดหน้าท่า ปัจจุบันสามารถรองรับเรือระวาง 500 – 1000 ตัน

ทางบก มีทั้งทางรถไฟ และทางรถยนต์ แต่ยังมีสภาพไม่สมบูรณ์ โดย

ทางรถไฟ เป็นรางเดี่ยวขนาดกว้าง 1.0 เมตรมี 2 เส้นทางคือ
(1) ปอยเปต -บันเตียเมียนจัย – พระตะบอง – โพธิสัด - พนมเปญ ปัจจุบันใช้เดินรถเพียงพนมเปญ – บันเตียเมียนจัย
(2) พนมเปญ – ตาแก้ว – กัมปอต – สีหนุวิลล์

เส้นทางรถไฟทั้ง 2 เส้นทางมีสภาพค่อนข้างทรุดโทรม รถไฟไม่สามารถวิ่งได้ด้วยความเร็วเท่าที่ควรและยังเป็นที่กังวลสำหรับความปลอดภัย ทำให้ไม่ค่อยได้รับความนิยมจากผู้โดยสาร แต่ยังคงมีการใช้เพื่อการขนส่งสินค้าที่ไม่ต้องการความเร่งด่วน ซึ่งรัฐบาลมาเลเซียได้เคยแจ้งว่า ยินดีจะให้ความช่วยเหลือเหล็กรางรถไฟและบูรณะ

ทางรถยนต์ กัมพูชาจำแนกเส้นทางรถยนต์สายหลักและสายรองโดยใช้ตัวเลขกำกับในลักษณะเดียวกับไทย กล่าวคือเส้นทางสายหลักที่ออกจากพนมเปญไปยังภูมิภาคต่างๆ จะใช้เลขหลักเดียว ( National Road ) ส่วนเส้นทางสายรอง( Feeder Road )จะมีหมายเลขแยกเป็น 2 หรือ 3 หลักแยกย่อยจากหมายเลขถนนสายหลัก ทั้งนี้ ถนนสายหลักของกัมพูชามี 7 สายนับเวียนซ้ายตามเข็มนาฬิกา เริ่มสายที่ 1 จากพนมเปญไปทางตะวันออกจนจรดไปพรมแดนทางใต้ของเวียดนาม วนไปจนถึงสายที่ 7 จากพนมเปญ จรดแขวงจำปาศักดิ์ของลาว ทุกเส้นทางยังเป็นทาง 2 ช่องจราจร ( ไป 1 กลับ 1 )โดยแต่ละเส้นทางจะพาดผ่านจังหวัดต่างๆ

ถนนหมายเลข 1 จากพนมเปญไปทางตะวันออก ผ่านจังหวัดกันดาล ข้ามแม่น้ำ โขง เข้าจังหวัดไพรเวง จังหวัดสวายเรียง สุดทางที่ด่านพรมแดนนานาชาติบาเวต ( ติดต่อกับด่านมอกไบของเวียดนาม ) ระยะทางรวม 167 กม. ช่วง 60 กม.แรกพนมเปญ – แม่น้ำโขง เป็นถนนราดยางชำรุดเป็นช่วงๆ ที่แม่น้ำโขงยังไม่มีสะพานจึงต้องข้ามแพ ขึ้นฝั่งตรงข้ามแล้วถนนราดยางดีตลอดถึงชายแดน ใช้เวลาเดินทางรวมประมาณ 3– 3.5 ชั่วโมง ทั้งนี้ ญี่ปุ่นได้ตกลงให้ความช่วยเหลือในการปรับปรุงถนนช่วงพนมเปญ-แม่น้ำโขง และสร้างสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามแม่น้ำโขงแล้ว คาดว่า เส้นทางจะสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2551

ถนนหมายเลข 2 จากพนมเปญไปทางใต้ ผ่านจังหวัดกันดาล แล้วไปสุดทางที่พนมเดิน จังหวัดตาแก้ว ( มีด่านคนท้องถิ่นข้ามไปเวียดนามที่ หนาเบิง ) ระยะทาง 121 กม. ถนนราดยางไหล่ทางแคบ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1.5 – 2 ชั่วโมง ถนนหมายเลข 3 จากพนมเปญไปทางใต้ เกาะตะเข็บจังหวัดกันดาล กับ กัมปงสะปือ ผ่านจังหวัดตาแก้วเข้าจังหวัดกัมปอต แล้วเลียบชายฝั่งไปทางตะวันตกจนจรดทางหลวงหมายเลข 4 ในเขตกรุงพระสีหนุ ระยะทาง 202 กม. ช่วงแรกพนมเปญ – กัมปอต148 กม. ถนนราดยางแต่เป็นคลื่น ช่วงหลัง เลียบชายฝั่งทางกำลังขยายรวมไหล่ทางเป็น 4 เลน ราดยางคืบหน้าแล้วประมาณร้อยละ 80 ใช้เวลาเดินทางรวมประมาณ 3.5 – 4.5 ชั่วโมง

ถนนหมายเลข 4 จากพนมเปญผ่านจังหวัดกัมปงสปือ และจังหวัดเกาะกง จนจรดชายทะเลอ่าวไทย บริเวณท่าเรือกรุงพระสีหนุ ระยะทาง 226 กม. เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าที่สำคัญและถือเป็นราดยางที่ดีที่สุดตลอดเส้นทางของกัมพูชา ใช้เวลาเดินทาง 3.5 – 4 ชั่วโมง

ถนนหมายเลข 5 จากพนมเปญไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ ผ่านพื้นที่จังหวัดกันดาล เข้าตัวจังหวัดกัมปงชะนัง จังหวัดโพธิสัด จังหวัดพระตะบอง จังหวัดบันเตียเมียนจัย และสิ้นสุดทางที่ด่านพรมแดนนานาชาติปอยเปต - อรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ประเทศไทย ระยะทางรวม 407 กม. เป็นถนนราดยางใช้ได้ดี ยกเว้นช่วงจากอำเภอศรีโสภณ จังหวัด บันเตียเมียนจัย ไปพรมแดนระยะทาง 49 กม. เป็นถนนราดยางที่ชำรุด หน้าแล้งพอใช้ได้ หน้าฝนทรุดโทรมมาก ตลอดเส้นทางใช้เวลารวม 5.5 – 7.5 ชั่วโมง

ถนนหมายเลข 6 จากพนมเปญขึ้นไปทางเหนือผ่านเขตจังหวัดกันดาล กัมปงจาม เข้าตัวจังหวัดกัมปงธม จังหวัดเสียมราฐ แล้วไปบรรจบกับถนนหมายเลข 5 ที่อำเภอศรีโสภณ จังหวัดบันเตียเมียนจัย ระยะทางรวม 416 กม. เป็นถนนราดยางใช้ได้ดี ยกเว้นช่วงเสียมราฐ – ศรีโสภณ ระยะทาง 90 กม.เป็นลูกรังหน้าแล้งพอใช้ได้ หน้าฝนไม่สะดวก ตลอดเส้นทางใช้เวลา 6.5 – 8 ชั่วโมง

ถนนหมายเลข 7 แยกจากถนนหมายเลข 6 ที่บ้านเชิงไพร จังหวัดกัมปงจามไปทางตะวันตก ผ่านตัวจังหวัด มุ่งสู่ชายแดนด้านเวียดนามก่อนเลี้ยวขึ้นไปทางเหนือเข้าสู่ตัวจังหวัดกระแจะ จังหวัดสตรึงไตรย์ ไปจนจรดด่านพรมแดนนานาชาติบ้านโอสวาย – เวือนคำ แขวงจำปาศักดิ์ของประเทศลาว ระยะทางรวม 461 กม. ช่วงแรกพนมเปญ-กระแจะ ประมาณ 280 กม. เป็นถนนราดยางใช้เวลาเดินทางประมาณ 3.5-4.5 ชั่วโมง ที่เหลือเป็นทางลูกรังยังไม่ได้สำรวจ

ทั้งนี้ รัฐบาลกัมพูชากำลังเร่งรัดขอความช่วยเหลือจากนานาชาติในการปรับปรุงการคมนาคมในทุกด้าน โดยคาดว่า ภายในอีก 3 ปีข้างหน้าถนนสายหลักจะราดยางสมบูรณ์ตลอดทั้ง 7 เส้นทาง (แล้วคงต้องกลับมาซ่อมทางราดยางเดิมที่เสียหาย) สำหรับประเทศไทยได้ตกลงให้ความช่วยเหลือทางด้านถนนแก่กัมพูชาแล้ว 2 เส้นทาง ได้แก่ ( 1 ) ทางหลวงหมายเลข 48 แยกจากทางหมายเลข 4 ที่ กม.130 ไปทางตะวันตกจนถึงจังหวัดเกาะกงซึ่งติดกับจังหวัดตราดของไทย โดยเป็นการให้เปล่าสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กข้ามแม่น้ำ 4 แห่ง และให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำในการปรับปรุงแนวถนนลูกรังเดิมเป็นถนนราดยางตลอดเส้นทาง รวมระยะทางประมาณ 148 กิโลเมตร กับ ( 2 ) ทางหลวงหมายเลข 67 แยกจากทางหลวงหมายเลข 6 ที่ตัวจังหวัดเสียมราฐ ขึ้นไปทางเหนือ จนจรดด่านชายแดนไทย – กัมพูชา( ช่องสะงำ อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ – อันลองเวง จังหวัดอุดรมีจัย ) โดยเป็นการให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำในการปรับปรุงแนวถนนลูกรังเดิมเป็นถนนราดยางตลอดสาย รวมระยะทางประมาณ 138 กิโลเมตร และฝ่ายกัมพูชาได้ขอให้ไทยพิจารณาให้ความช่วยเหลืออีก 1 เส้นทาง คือ ทางหลวงหมายเลข 68 แยกจากทางหลวงหมายเลข 6 ที่อำเภอกระลัน ทางตะวันตกของจังหวัดเสียมราฐ ขึ้นไปทางเหนือ จนจรดด่านชายแดนไทย – กัมพูชา ( ช่องจอม จังหวัดสุรินทร์ – สำโรง จังหวัดอุดรมีชัย ) ระยะทางประมาณ 125 กิโลเมตร

ภาษา และการสื่อสาร 
ภาษาประจำชาติของกัมพูชาคือ ภาษาขแมร์ ซึ่งสำหรับคนไทยแล้ว หากตั้งใจที่จะเรียน น่าจะสามารถพูดและอ่านได้ภายในระยะเวลาเพียง 6 เดือน เนื่องจากพยัญชนะ สระ การประสมคำ และรูปประโยคจะคล้ายคลึงกัน จะแตกต่างกันที่เห็นชัดเจนคือ วิธีการออกเสียงซึ่งของไทยจะเน้นเสียงตัวสะกด ขณะที่กัมพูชาจะไม่ค่อยออกเสียงตัวสะกด และเสียงสระจะผันตามเสียงพยัญชนะซึ่งมี 2 ฐานคือ โฆษะ กับ อโฆษะ หรือเสียงใหญ่กับเสียงเล็ก เช่น คำตามรูปพยัญชนะและสระสะกดว่า “ การงาน “ ไทยอ่านว่า “กาน – งาน “ กัมพูชาจะอ่านว่า “ กา – เงีย “ อักษร “ก” เป็นพยัญชนะโฆษะเสียงใหญ่ สระเสียงคงรูป แต่อักษร “ง” เป็นอโฆษะ เสียงเล็ก สระจะผันตามพยัญชนะ ซึ่งผู้สนใจคงจะต้องไปหาที่เรียนรู้เพิ่มเติม

ทั้งนี้ พยัญชนะขแมร์มี 32 ตัว สระมี 21 ตัว

จากการที่ชาวกัมพูชามีความใกล้ชิดกับชนชาติต่างๆ มาก ไม่ว่าจากการเป็นสังคมที่เปิดกว้าง การเข้ามาค้าขายของชาวจีน การกลับประเทศของผู้ลี้ภัยสงคราม ไม่ว่าจากประเทศที่มีชายแดนติดกัน หรือจากอเมริกา ฝรั่งเศส หรือออสเตรเลีย รวมทั้งการได้รับความช่วยเหลือในรูปทุนการศึกษาในด้านต่างๆ จำนวนมาก และอาจจะประกอบกับการให้ความสำคัญต่อการมีทักษะทางด้านภาษาต่างประเทศ ทำให้นักการเมือง ข้าราชการ พ่อค้า และประชาชนชั้นกลางขึ้นมา จะพูดและฟังภาษาอื่นนอกเหนือจากภาษาแม่ได้ดี โดยทางธุรกิจการค้าจะมีภาษาจีนแต้จิ๋ว จีนกลาง และอังกฤษเป็นสำคัญ ขณะที่ภาษาไทยและเวียดนามจะรู้จักแพร่หลายทั่วกับผู้ประกอบธุรกิจและประชาชนทั่วไป โดยผู้ที่อยู่ตามจังหวัดชายแดนที่ติดกับประเทศทั้งสองจะมีทักษะในการใช้ภาษาไทยและเวียดนามมากกว่าผู้อยู่ในพนมเปญ

ระบบการสื่อสารในประเทศกัมพูชาและการเชื่อมต่อออกนอกประเทศในปัจจุบันถือได้ว่าเป็นประเทศที่เปิดเสรีระบบโทรคมนาคม ทำให้มีเครือข่ายการสื่อสารที่ครบถ้วนสมบูรณ์และแข่งขันกันมากประเทศหนึ่ง หากเทียบขนาดตลาด 13.8 ล้านคนกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มีสายและไร้สายรวม 6 ราย และผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ต 3 ราย

เงินตราและการเดินทางไปกัมพูชา 
กัมพูชามีเงินตราประจำชาติได้แก่ เงินสกุล “เรียล “ ( Riel ) ซึ่งรัฐบาลพยายามรักษาเสถียรภาพให้อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 4,000 เรียล (บวก/ลบ 100)ต่อดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้เกิดความนิยมใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนให้มากขึ้น แทนการใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในการทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจทุกด้านในเมืองหลวงและเมืองท่องเที่ยวทุกวันนี้ ซึ่งทุกฝ่ายมีความเห็นว่า คงจะต้องใช้ความพยายามและเวลาอย่างมากที่จะทำให้ตลาดทั้งระบบใช้เงินเรียลอันเป็นสกุลเงินตราของท้องถิ่น เนื่องจาก (1) เศรษฐกิจกัมพูชายังคงเป็นเศรษฐกิจเงินสด ( Cash Economy ) เงินผ่านระบบธนาคารค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับธุรกรรม (2) เงินตราสกุลดอลลาร์ได้หมุนเวียนและหยั่งรากลึกอยู่ในระบบเศรษฐกิจของกัมพูชา รวมทั้งถูกใช้เป็นหน่วยของการซื้อขายสินค้าส่วนใหญ่ในเมืองสำคัญๆ และ (3) ร้านแลกเปลี่ยนเงินตราที่มีมากและเปิดได้เสมือนเสรี ทำให้การแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลใดสกุลหนึ่งสามารถทำได้ง่ายด้วยต้นทุนที่ต่ำ ประกอบกับ (4) สินค้าที่ซื้อขายส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการนิยมการแจ้งราคาเป็นดอลลาร์ซึ่งมีเสถียรภาพมากกว่า

เนื่องจากไทยเป็นประเทศเพื่อนบ้านและเงินตราสกุล “ บาท “ ของไทยเป็นที่รู้จักและเป็นเงินตราอีกสกุลหนึ่งที่ได้รับการยอมรับในตลาดกัมพูชา ทำให้คนไทยที่เดินทางเข้ามาในกัมพูชา โดยเฉพาะทางตะวันตกของประเทศซึ่งติดต่อกับประเทศไทยเช่น เสียมราฐ พระตะบอง ศริโสภณ พลอยได้รับความสะดวกสามารถจับจ่ายซื้อสินค้าด้วยเงินบาท แทนที่จะต้องไปแลกเป็นเงินดอลลาร์หรือเงินเรียลก่อน

สำหรับคนไทยทั่วไปที่จะเดินทางไปยังกัมพูชา ขอเรียนว่า ถึงขณะนี้ยังไม่มีข้อตกลงงดเว้นการตรวจลงตราเข้าประเทศระหว่างกัน ดังนั้น คนไทยที่จะเดินทางไปยังกัมพูชาจึงจำเป็นต้องมี “ วีซ่า “ ประกอบหนังสือเดินทางก่อน จึงเข้าประเทศกัมพูชาได้ โดยสามารถขอ “ วีซ่า “ จากสถานทูตกัมพูชาในประเทศต่างๆ ก่อนออกเดินทาง หรือจะมาขอที่ด่านพรมแดนก่อนเข้าประเทศกัมพูชา หรือที่เรียกกันว่า Visa on Arrival ก็ได้ ทั้งนี้วีซ่าประเภทท่องเที่ยวหรือ Tourist Visa คิดค่าธรรมเนียม 20 ดอลลาร์ สหรัฐฯ ส่วนวีซ่าประเภทธุรกิจหรือ Business Visa เสียค่าธรรมเนียม 25 ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยทั้ง 2 ประเภทต่างอยู่ได้ 30 วัน แต่วีซ่าประเภทธุรกิจเท่านั้นที่สามารถนำไปประกอบการขอวีซ่าประเภทอยู่อาศัยชั่วคราว Multiple Visa เพื่อเดินทางเข้า - ออกกัมพูชาได้หลายครั้งใน 1 ปี และนำไปประกอบการขออนุญาตทำงานหรือ Work Permit ได้ ทั้งนี้ นอกจากการเข้าออกทางท่าอากาศยานนานาชาติทั้งสองแห่ง กับท่าเรือนานาชาติของกัมพูชาที่กล่าวข้างต้นแล้ว ยังสามารถใช้จุดผ่านแดนถาวรระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา ที่เปิดบริการตั้งแต่ 07.00 – 20.00 น. ทุกวัน รวม 6 จุด ได้แก่
  • จังหวัดศรีสะเกษ อำเภอภูสิงห์ ช่องสะงำ - ช่องจวม อ. อันลองเวง จ.อุดรมีชัย
  • จังหวัดสุรินทร์ อำเภอกาบเชิง ช่องจอม - ช่องโอร์เสม็ด อ.สำโรง จ.อุดรมีชัย
  • จังหวัดสระแก้ว อำเภออรัญประเทศ บ้านคลองลึก - ช่องปอยเปต อ.โอโจรว จ.บันเตียเมียนเชย
  • จังหวัดจันทบุรี อำเภอโป่งน้ำร้อน บ้านแหลม - ช่องพนมพรึก อ.กำเรียง จ.พระตะบอง
  • จังหวัดจันทบุรี อำเภอโป่งน้ำร้อน บ้านผักกาด - ช่องบ้านพรม อ.ศาลากราว กรุงไพลิน
  • จังหวัดตราด อำเภอคลองใหญ่ บ้านหาดเล็ก - ช่องจามเยียม อ.มณทลสีมา จ.เกาะกง
ทั้งนี้ นอกจากผู้ที่ถือหนังสือเดินทาง (Passorpt) และมีการตรวจตราหรือ VISA เรียบร้อยแล้ว สามารถเดินทางผ่านเข้าออกด่านถาวรดังกล่าวตามเวลาทำการข้างต้นแล้ว (ยกเว้นการเดินทางเข้ากัมพูชาสามารถขอทำ VISA on Arrival ได้) ประชาชนที่อยู่ตามชายแดนสามารถขอทำบัตรผ่านแดนจากหน่วยงานปกครองในท้องถิ่น (เปรียบเสมือนหนังสือเดินทางเฉพาะท้องถิ่น) ซึ่งจะสามารถใช้เดินทางได้ไกลถึงจังหวัดที่ถัดจากจังหวัดที่อยู่ติดกับภูมิลำเนาของตน โดยแต่ละครั้งจะสามารถอยู่พำนักได้ไม่เกิน 7 วัน

นอกจากจุดผ่านแดนถาวรข้างต้นแล้ว ไทย และ กัมพูชา ยังได้ตกลงเปิดจุดผ่อนปรน เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับประชาชนที่อยู่อาศัยในจังหวัดชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน สามารถเดินทางข้ามไปมาหาสู่ระหว่างกันได้อีก 8 แห่ง ประกอบด้วยจังหวัดอุบลราชธานี 1 แห่ง สระแก้ว 3 แห่ง จันทบุรี 3 แห่ง และตราด 1 แห่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น