ประเทศบรูไน


บรูไน ดารุสซาลาม (Brunei Darussalam)

ธงชาติ

ตราแผ่นดิน

 

แผนที่

 บรูไนดารุสซาลาม
Brunei Darussalam
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อทางการ   
 
เนการาบรูไนดารุสซาลาม (Negara Brunei Darussalam แปลว่า ดินแดนแห่งความสงบสุข)
 

ที่ตั้ง
ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะบอร์เนียว ทิศตะวันออก ตะวันตกและทิศใต้ติดเขตซาราวัก ประเทศมาเลเซีย 
โดยพื้นที่ร้อยละ 70 เป็นป่าไม้

พื้นที่
5,765 ตารางกิโลเมตร แบ่งเป็น 4 เขต คือ Brunei-Muara, Belait, Temburong และ Tutong

เมืองหลวง
บันดาร์เสรีเบกาวัน (Bandar Seri Begawan) อยู่ในเขต Brunei-Muara

ประชากร
374,577 คน (2550) เชื้อชาติมาเลย์ 250,967 คน (67%) จีน 56,187 คน (15%) และอื่น 67,424 คน (18%)
อัตราการเพิ่มประชากรปีละ 3.5 % (2550)

ภูมิอากาศ  
ร้อนชื้น มีฝนตกชุกตลอดปี อุณหภูมิเฉลี่ย 23-32 องศาเซลเซียส ฝนตกหนักสุดช่วงเดือนกันยายนถึงมกราคม
และพฤษภาคมถึงกรกฎาคม อากาศเย็นสบายที่สุดจะอยู่ช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน

ภาษา
ภาษามาเลย์ (Bahasa Melayu) เป็นภาษาราชการ  ภาษาอังกฤษและภาษาจีนเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารแพร่หลาย

ศาสนา
ศาสนาประจำชาติ คือ ศาสนาอิสลาม (67%) ศาสนาอื่น ๆ ได้แก่ ศาสนาพุทธ (13%) ศาสนาคริสต์ (10%)
และฮินดู

หน่วยเงินตราดอลลาร์บรูไน (Brunei Dollar) ประมาณ 1.37 ดอลลาร์บรูไน/1 ดอลลาร์สหรัฐ (1)หรือ ประมาณ
23.98 บาท/ 1 ดอลลาร์บรูไน (2) (บรูไนมีความตกลงแลกเปลี่ยนเงินกับสิงคโปร์ทำให้เงินดอลลาร์บรูไนมีมูลค่า
เท่ากับเงินดอลลาร์สิงคโปร์และสามารถใช้แทนกันได้ แต่อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทกับดอลลาร์สิงคโปร์ ประมาณ
23.95บาท/ 1 ดอลลาร์สิงคโปร์)

GDP
GDP *18,918 ล้านดอลลาร์บรูไน (2549)  
GDP per capita 49,400 ดอลลาร์บรูไน (2549)
GDP Growthร้อยละ 3.8

ระบอบการปกครอง
สมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยมีสมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัลโบลเกียห์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละห์
(His Majesty Sultan HajiHassanal Bolkiah Mu’izzaddin Waddaulah) ทรงเป็นสมเด็จพระราชาฯ
องค์ที่ 29 ทรงเป็นองค์พระประมุขของประเทศตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม 2510 ซึ่งในปีนี้ (2551) เป็นวาระเฉลิมฉลองพระชนมายุครบ
62 ปี ของสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนฯ

วันสำคัญ
วันประกาศอิสรภาพ 1 มกราคม พ.ศ.2527
วันคล้ายวันประสูติสมเด็จพระราชาธิบดีฯ 15 กรกฎาคม
 
 
การเมืองการปกครอง


- รัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 1 มกราคม 2527 กำหนดให้สมเด็จพระราชาธิบดีทรงเป็นอธิปัตย์ คือ เป็นทั้งประมุขและนายกรัฐมนตรี สมเด็จพระราชาธิบดีองค์ปัจจุบันยังทรงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการคลังอีกด้วย ทั้งนี้
นายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นชาวบรูไนฯ เชื้อสายมาเลย์โดยกำเนิดและจะต้องนับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่

- ปัจจุบันมีพรรคการเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงพรรคเดียวคือ พรรค Parti Perpaduan Kebangsaan Brunei (PPKB) ซึ่งมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลแต่ไม่มีบทบาทนัก โดยรัฐบาลบรูไน ฯ เห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องมีพรรคการเมือง
เนื่องจากประชาชนสามารถแสดงความคิดเห็น หรือขอความช่วยเหลือจากข้าราชการของสมเด็จพระราชาธิบดีได้อยู่แล้ว  
 
                         - ในปี 2547 มีการเคลื่อนไหวที่สำคัญเมื่อสมเด็จพระราชาธิบดีฯ ทรงประกาศให้ฟื้นฟูสภานิติบัญญัติขึ้นอีกครั้ง
นำไปสู่การเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติถือเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการสร้างประชาธิปไตยของบรูไนฯซึ่งพัฒนาการดังกล่าว
ได้รับการตอบรับที่ดีจากต่างประเทศ นักวิชาการ รวมทั้งพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่ยังเคลื่อนไหวอยู่


- ในปี 2548 สมเด็จพระราชาธิบดีฯ ทรงประกาศปรับคณะรัฐมนตรีครั้งสำคัญในรอบ 22 ปี โดยทรงแต่งตั้งมกุฎราชกุมารอัล มูห์ทาดี บิลลาห์ ให้ทรงดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอาวุโสประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งบ่งชี้ถึงแนวทางการสืบทอดอำนาจ
ในการบริหารประเทศ
ในอนาคต นอกจากนี้ ได้มีการปรับเปลี่ยนรัฐมนตรีโดยได้เปิดโอกาสให้นักธุรกิจที่มีความชำนาญและ
ผู้ที่ไม่ได้เป็นมุสลิม เข้าดำรงตำแหน่งสำคัญในคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งแรก สะท้อนให้เห็นว่าสมเด็จพระราชาธิบดีฯ
ทรงให้ความสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจ ภาคพลังงาน รวมทั้งการพัฒนาประเทศให้เป็นมุสลิมสายกลางมากขึ้น เพื่อให้บรูไน ฯ
มีความเจริญทัดเทียมนานาประเทศ

- ปัจจุบันรัฐบาลของประเทศบรูไนประกอบได้ด้วย 12 กระทรวง คือ
 

- สำนักนายกรัฐมนตรี
- กระทรวงกลาโหม
- กระทรวงการคลัง
- กระทรวงการต่างประเทศ
- กระทรวงมหาดไทย
- กระทรวงศึกษาธิการ
- กระทรวงอุตสาหกรรม
- กระทรวงศาสนา
- กระทรวงการพัฒนา
- กระทรวงวัฒนธรรม เยาวชนและกีฬา
- กระทรวงสาธารณสุข
- กระทรวงคมนาคม
 
* อ้างอิงจากฐานข้อมูลของ Brunei Economic Development Board(BEDB)
 
 
 เศรษฐกิจการค้า


เศรษฐกิจ

- บรูไน ฯ เป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับสามในภูมิภาคอาเซียน รองจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย
และเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติ LNG อันดับสี่ของโลก จึงมีรายได้หลักจากการส่งออกน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ
คิดเป็นมูลค่ากว่าร้อยละ 90 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดโดยส่งออกไปยังญี่ปุ่น อออสเตรเลีย จีน อินเดีย สิงคโปร์ ไทย
และเกาหลีใต้ ในขณะเดียวกัน บรูไนฯ นำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค อาหาร และเครื่องจักรอุตสาหกรรม รถยนต์ เครื่องมือ
เครื่องใช้ไฟฟ้าจากสิงคโปร์ อังกฤษ มาเลเซีย และสหรัฐอเมริกา

- นอกเหนือจากอุตสาหกรรมน้ำมัน บรูไนฯ ยังมีอุตสาหกรรมอื่นๆ อีก อาทิ อุตสาหกรรมฮาลาล โดยรัฐบาลได้เปิดตัวโครงการ
Brunei Premium Halal Brand ขึ้น ภายใต้ความร่วมมือกับภาคเอกชนออสเตรเลีย เพื่อยกระดับมาตรฐานสินค้าและ
อาหารฮาลาลบรูไนฯ สู่ตลาดสากล นอกจากนี้ ยังส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ โดยมีจุดขายอยู่ที่การเป็นประเทศ
ที่มีความสงบและปลอดภัย และมีนโยบายจะพัฒนาประเทศให้เป็นศูนย์กลางทางการค้าและท่องเที่ยว
(Service Hub for Trade and Tourism – SHuTT 2003 Vision) และการรักษาพยาบาล

- แผนพัฒนาประเทศ ฉบับที่ 9 รัฐบาลจะเน้นการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและการค้า ซึ่งปัจจุบันบรูไนฯ สามารถสร้างโรงงานผลิต
เมทานอล ขึ้นที่เขตอุตสาหกรรม Sungai Liang นอกจากนี้รัฐบาลพยายามส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติและการลงทุน
ภายในประเทศ ในโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน    

- ปัจจุบัน บรูไน ฯ กำลังพยายามเปลี่ยนแปลงจากเศรษฐกิจที่พึ่งพาน้ำมันเป็นหลักไปสู่โครงสร้างเศรษฐกิจที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยรัฐบาลได้ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมมีบทบาทมากขึ้น มีมาตรการเปิดเสรีด้านการค้าและสร้างบรรยากาศ
ที่เอื้ออำนวย
ต่อการลงทุนจากต่างประเทศ  อย่างไรก็ดี การพัฒนายังเป็นไปย่างล่าช้า เนื่องจากอุปสรรคหลายประการ อาทิ
กฎระเบียบที่เคร่งครัดต่าง ๆการห้ามชาวต่างชาติเป็นเจ้าของกิจการ การขาดช่างฝีมือ ประกอบกับคนบรูไนฯ
ไม่คุ้นเคยกับวิถีชีวิตแบบใหม่และระบบเศรษฐกิจการค้าเสรี 
ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนจากต่างชาติ
 
 สังคม
- บรูไนฯ จัดระเบียบสังคมตามข้อบัญญัติของศาสนามุสลิมและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด               
 
 
              - บรูไนฯ มีระบบรัฐสวัสดิการที่มีประสิทธิภาพ โดยรัฐให้หลักประกันด้านการศึกษา การเคหะและการรักษาพยาบาล
และไม่มีการเก็บภาษีเงินได้ ทำให้บรูไนฯ ไม่มีปัญหาทางการเมือง อย่างไรก็ดี ปัญหาสังคมที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ได้แก่
การแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ปัญหาการว่างงาน (ณ เดือนพฤษภาคม 2550 มีสถิติการว่างงาน 5,814 คน)
ซึ่งรัฐบาลพยายามโน้มน้าวให้ประชาชนทำงานในภาคเอกชนมากขึ้น แทนที่จะรองานราชการเพียงอย่างเดียวเช่นในอดีต                                                                                                   
ต่างประเทศ

 
 
 นโยบายต่างประเทศ
 
 
 - วัตถุประสงค์หลักของนโยบายต่างประเทศบรูไนฯ คือ การส่งเสริมผลประโยชน์แห่งชาติ ได้แก่ การรักษาอธิปไตย
อิสรภาพและบูรณภาพแห่งดินแดน การสร้างความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจและสังคม และการรักษาเอกลักษณ์ทางการเมือง
วัฒนธรรมและศาสนา รวมทั้งส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคง ความมีเสถียรภาพและความรุ่งเรืองในระดับภูมิภาคและระดับโลก             
 
 

- บรูไน ฯ ใช้กลไกพหุภาคีเป็นเครื่องมือหลักในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ
เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรอง เสริมสร้างความมั่นคงและผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอาเซียน (ซึ่งถือเป็นเสาหลักนโยบายต่างประเทศบรูไนฯ) ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (APEC )การประชุมเอเชีย-ยุโรป (ASEM) องค์การการประชุมอิสลาม (OIC) และสหประชาชาติ  (UN) สำหรับในระดับทวิภาคี บรูไนฯ พยายามเป็นมิตรกับนานาประเทศเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และร่วมเป็นพันธมิตรทางทหารกับประเทศต่าง ๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการป้องกันประเทศ

- การที่ประมุขของประเทศซึ่งเป็นผู้นำรัฐบาลเสด็จ ฯ เยือนประเทศต่าง ๆ ด้วยพระองค์เองเพื่อสร้างบทบาทของบรูไน ฯ   
ในเวทีระหว่างประเทศ ทำให้บรูไน ฯ ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศทั้งในและนอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

- ในปี 2547 และ 2548 สมเด็จพระราชาธิบดีเสด็จ ฯ เยือนต่างประเทศบ่อยครั้ง เพื่อกระชับความสัมพันธ์อันดีกับต่างประเทศ 
โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ (สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น) ประเทศในตะวันออกกลาง รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้าน
ในอาเซียน
 
 
 ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับบรูไนดารุสซาลาม
 
 

 
 
 ความสัมพันธ์ทั่วไป
 
 

ไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับบรูไน ฯ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2527 (ค.ศ. 1984) เมื่อบรูไนฯ เป็นเอกราชและเข้าเป็นสมาชิกอาเซียน ซึ่งทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาโดยตลอด โดยเฉพาะในระดับราชวงศ์ มีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับราชวงศ์ ผู้นำระดับสูงของรัฐบาล และผู้นำระดับสูงของกองทัพอยู่เสมอ ล่าสุดสมเด็จพระราชาธิบดีฯ และสมเด็จพระราชินีได้เสด็จมาร่วมพิธีเฉลิมฉลองการครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ระหว่างวันที่ 11-14 มิถุนายน 2549 และนายกรัฐมนตรีพลเอก สุรยุทธ์ฯ เยือนบรูไนฯ อย่างเป็นทางการหลังจากเข้ารับตำแหน่งตามธรรมเนียมปฏิบัติของผู้นำอาเซียน เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2549 และ นรม. เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระราชาธิบดี ครั้งล่าสุดในการประชุมผู้นำอาเซียน ครั้งที่ 12 ที่เมืองเซบู เมื่อต้นปี 2550      นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังมีทัศนคติที่ดีต่อกัน ไม่เคยมีความบาดหมางทางประวัติศาสตร์และมักเป็นพันธมิตรในเรื่องต่าง ๆ ทั้งในกรอบอาเซียนและกรอบสหประชาชาติ                                                                                                           
 
 
 
 
 
ความสัมพันธ์ด้านการเมือง
 
 
                  ไทยและบรูไนได้จัดตั้งกลไกความร่วมมือทวิภาคีระหว่างกัน คือ คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-บรูไน ซึ่งมีการประชุมครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 30 – 31 มีนาคม 2546 ที่กรุงเทพฯ ซึ่งได้มีการหารือเกี่ยวกับการส่งเสริมความ สัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศในด้านต่าง ๆ ได้แก่ การทหาร การค้า การลงทุน การประมง แรงงาน การท่องเที่ยวและวัฒนธรรม โดยไทยประสบความสำเร็จในการโน้มน้าวให้บรูไนฯ ให้ความสำคัญกับการลงทุนในอุตสาหกรรม อาหารฮาลาลและร่วมมือกันจัดตั้งธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยขึ้นเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2546 มีการจัดตั้งกองทุนร่วม (Matching Fund) “กองทุนไทยทวีทุน” (ระหว่าง Brunei Investment Agency กับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ)
                  สำหรับท่าทีของฝ่ายบรูไนฯ ต่อสถานการณ์การเมืองของไทยนั้น เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2549 เอกอัครราชทูต ณ บันดาร์เสรีเบกาวัน ได้เข้าพบปลัดกระทรวงฝ่ายการเมือง กระทรวงการต่างประเทศและการค้าของบรูไนฯ เพื่อชี้แจงเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทย โดยปลัดกระทรวงฯ กล่าวว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องภายในของประเทศไทย และไทยมีสิทธิกำหนดอนาคตของตนเอง บรูไนฯ มีนโยบายไม่แทรกแซงและเคารพอำนาจอธิปไตย เอกราช และความมั่นคงของรัฐ และยินดีที่ได้ทราบว่าไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรง อีกทั้งประชาชนสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ นอกจากนั้น ยังได้กล่าวย้ำว่า บรูไนฯ มีความเชื่อมั่นอย่างเต็มที่ว่าไทยจะสามารถบริหารจัดการให้ทุกอย่างดำเนินไปด้วยดี
 

 
ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้า
 
 
 
การค้ารวมระหว่างไทยกับบรูไน ฯ ในปี 2549 มีมูลค่าการค้ารวม 210.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 0.08 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทย โดยไทยขาดดุลการค้ากับบรูไน ฯ 45.3 ล้าน
ดอลลาร์สหรัฐ
 
สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังบรูไนฯ คือ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ข้าว เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป น้ำตาลทราย ปูนซิเมนต์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์เซรามิก เครื่องจักรกล และเครื่องคอมพิวเตอร์
 
สินค้าที่ไทยนำเข้าจากบรูไนฯ คือ น้ำมันดิบ สัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ธุรกรรมพิเศษ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะ   และผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรก และส่วนประกอบ วัสดุทำจากยางและสิ่งพิมพ์ และเครื่องใช้เบ็ดเตล็ด
 

 

การลงทุน
 
 
 
ภาคเอกชนของไทยได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจกับบรูไนฯ 3 ฉบับในปี 2545 ได้แก่
 
- Memorandum of Understanding between the Brunei Investment Agency and the Government Pension Fund of Thailand
- Memorandum of Understanding between the Government of His Majesty the Sultan and Yang di-Pertuan of Brunei    
  Darussalam and Chia Meng Group
- Memorandum of Understanding between the Brunei Investment Agency and the Biz Dimension Co. Ltd. สำหรับบริษัทไทยที่ลงทุน     ในบรูไนฯ คือ บริษัท Brunei Construction ซึ่งเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ไม่มีบริษัทที่เป็นของคนไทยล้วน ๆ ในบรูไนฯ เนื่องจากตามกฎหมายบรูไนฯ การ
  ทำกิจการต่าง ๆ จะต้องมีคนบรูไนฯ เป็นหุ้นส่วนอยู่ด้วย สำหรับธุรกิจไทยในบรูไนฯ ส่วนมากจะเป็นร้านขายของ ร้านอาหาร ร้านตัดเสื้อ และอู่ซ่อมรถ
 

การท่องเที่ยว
 
 
 
เมื่อปี 2548 มีนักท่องเที่ยวจากบรูไน ฯ เดินทางมาไทยจำนวน 9,499 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2547 (9,345 คน) ร้อยละ 1.65 ทั้งนี้ แม้ว่านักท่องเที่ยวบรูไน ฯ จะเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยจำนวนไม่มากนัก แต่ก็เป็นนักท่องเที่ยวที่มีการใช้จ่ายสูงและมีศักยภาพที่จะเพิ่มจำนวนอีกได้ ทั้งที่เป็นลูกค้าประจำและผู้ที่
 
นิยมสายการบินไทย
 
แรงงาน

 

 
ปัจจุบันมีแรงงานไทยในบรูไน ฯ ประมาณ 8,000 คน (2550) โดยส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ ทำงานในกิจการก่อสร้าง อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพื่อการส่งออก นอกนั้น ทำงานในภาคธุรกิจบริการ เช่น ห้าง สรรพสินค้า ร้านอาหาร การตกแต่งดูแลสวน ช่างซ่อม และงานในภาคเกษตรกรรม แรงงานไทยส่วนใหญ่ได้รับการยอมรับอย่างดีจากนักธุรกิจในบรูไน ฯ เพราะมีความซื่อสัตย์ อดทน ขยัน หมั่นเพียร และมีความรับผิดชอบแม้จะด้อยในเรื่องภาษา อย่างไรก็ดียังมีปัญหาอยู่บ้างโดยส่วนใหญ่เป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง อาทิ อัตราค่าจ้างที่ไม่สอดคล้องกับความสามารถในการทำงาน และการขาดความรู้และความเข้าใจต่อกฎระเบียบ ข้อบังคับของสัญญาจ้าง
 
 
 
ความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรม 

 
ด้านวัฒนธรรม
 
 

     ที่ประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีระหว่างประเทศไทยกับบรูไน ฯ ครั้งที่ 1 ที่กรุงเทพ ฯ เมื่อวันที่ 30 – 31 มีนาคม 2546 เห็นพ้องในการขยายความร่วมมือทางด้านวัฒนธรรม ในปี 2546 ซึ่งเป็นวาระฉลองครบรอบ 20 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-บรูไน ฯ สถานเอกอัครราชทูต ณ บันดาร์ เสรี เบกาวัน ได้ร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงวัฒนธรรมและการกีฬาบรูไน ฯ จัดกิจกรรม Thailand Festival 2003 โดยมีการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรม นำคณะนาฏศิลป์และนักดนตรีมาเปิดการแสดงทางวัฒนธรรมที่บรูไน ฯ
 
 
     ด้านวิชาการ
 
 
     ปัจจุบันไม่มีนักศึกษาไทยศึกษาอยู่ในบรูไนฯ แล้ว ต่างจากในอดีตที่มีนักศึกษามุสลิมจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับทุนจากรัฐบาลบรูไนฯ ให้มาศึกษาทางด้านรัฐศาสตร์และการศาสนา เนื่องจากบรูไนฯ พิจารณาเรื่องการให้ทุน การศึกษาเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบาย อย่างไรก็ดี ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาไทยประกาศตัวเป็นประเทศผู้ให้โดยไม่ประสงค์เป็นผู้รับอีกต่อไป เพื่อแสดงความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจตามนโยบายของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณฯ บรูไนจึงงดทุนทั้งหมดที่เคยให้รัฐบาลไทย อนึ่ง ในปี 2549 ไทยได้ให้ทุนการศึกษาแก่บรูไนฯ จำนวน 1 ทุน ได้แก่ Thai Language Learning among ASEAN Diplomats
 

 
 
               ด้านข้อมูลข่าวสาร
 
 
                ในปี 2544 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยและบรูไนฯ ได้ร่วมลงนามใน บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีด้านสารสนเทศและการกระจายเสียงและภาพระหว่าง ไทย-บรูไนฯ (MoU on Cooperation in the field of Information and Broadcasting) เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือ ด้านข้อมูลข่าวสารและประชาสัมพันธ์ การแลกเปลี่ยนรายการวิทยุ โทรทัศน์และสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีสาระ รอันจะก่อให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนของทั้งสองประเทศ ซึ่งในปัจจุบันได้มีการดำเนินโครงการภายใต้ MoU ดังกล่าวแล้ว โดยมีการจัดประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย-บรูไน ฯ (Joint Technical Committee on Information and Broadcasting ) นอกจากนี้ สถานีวิทยุกระจาย เสียงแห่งประเทศไทยและสถานีวิทยุบรูไน ฯ ยังได้ร่วมกันจัดกิจกรรมการแสดงดนตรีและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่าง เป็นประจำทุกปี โดยครั้งล่าสุดเป็นการจัดงานครั้งที่ 4 ภายใต้ชื่องาน Alai-Krathong ณ Jerudong Park Amphitheatre เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2550 โดยมีนักร้อง และคณะนักแสดงจากประเทศไทยเดินทางมาบรูไนฯ เพื่อเปิดการแสดงร่วมกับศิลปินชาวบรูไนฯ ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีมากจากผู้ชมทั้งชาวบรูไนฯ และชาวไทยที่อาศัยอยู่ในบรูไนฯ และในวันที่ 14-18 ตุลาคม 2550 ข้าราชการจากกรมประชาสัมพันธ์จะเดินทางเยือนบรูไนฯตามโครงการแลกเปลี่ยนในกรอบ MoU   

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น